คู่มือเลี้ยง แคคตัสขนนกเหลือง

แคคตัสขนนกเหลือง หรือ แมมขนนกเหลือง (Mammillaria schiedeana) แคคตัสสกุลแมมมิลลาเรีย อีกหนึ่งแคคตัสสายดอกที่ให้ดอกได้ง่ายมากๆตั้งแต่ต้นอายุได้ 1.5-2 ปี ก็เริ่มให้ดอกได้ อีกทั้งยังเป้นแคคตัสให้ดอกได้ตลอดทั้งปี ถ้าหากได้รับแสงแดดเพียงพอ น้ำ และอาหารเพียงพอ การดูแลแบบพิเศษสำหรับสายพันธุ์แคคตัสนี้ ขอเน้นเรื่องแสงแดด ถ้าได้รับแดดน้อย แคคตัสขนนกเหลืองจะยืดง่ายมากๆ ควรได้รับแสงแดด 6-8 ชั่วโมงขึ้นไปเป็นอย่างน้อย อีกเรื่องที่สำคัญคือปัญหาเพลี้ยแป้ง หมั่นสังเกตอาการแคคตัสว่ายังเติบโต สดใสปกติ ไม่เหี่ยวนิ่ม เปลี่ยนดินใหม่ทุกๆ 1 ปี เพื่อตรวจเช็คระบบราก และหมั่นเติมยาป้องกันเพลี้ยแป้ง เช่น สตาร์เกิล จี เป็นประจำทุก 3-4 เดือน

วิธีเลี้ยง แคคตัสขนนกเหลือง (Mammillaria schiedeana)

1.แดดสำหรับแคคตัส

จัดเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดถ้าหากอยากให้แคคตัสของเราสวยงาม เติบโตเร็ว และออกดอกได้สมวัย แคคตัสควรได้รับแสงแดดอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมงต่อวัน การเลี้ยงแคคตัสในสถานที่ไม่มีแสงแดด เช่น ห้องน้ำ ห้องนอน ห้องนั่งเล่น หรือ ที่มีแสงแดดส่องถึงน้อย จะทำให้แคคตัสยืด เสียทรง เติบโตช้า และไม่ออกดอก แนะนำให้มีโรงเรือน จะเป็นโรงเรือนทำเอง หรือ โรงเรือนแคคตัสสำเร็จรูป ก็ได้ ตำแหน่งการตั้งวางโรงเรือน ควรอยู่ในที่โล่งแจ้ง ไม่มีต้นไม้ใหญ่บัง เพื่อให้แดดส่องถึงต้นไม้ได้อย่างเต็มที่ ข้อควรระวัง แคคตัสที่เพิ่งซื้อมา ไม่ควรนำไปตั้งในที่แดดแรงๆทันที เพราะอาจทำให้ต้นแคคตัสเกิดอาการไหม้แดด และต้นนิ่มได้ ควรพรางแสงลดแสงลงด้วยตาข่ายกรองแสง(สแลน) สัก 50-60% สำหรับผู้ที่มีโรงเรือนก็แนะนำให้กรองสแลนอีกชั้น เพราะโรงเรือนหลังคาใส แดดยังมีความเข้มมากเกินไป เรื่องแดดเป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ แคคตัสที่รับแดดีๆ จะมีโรคและแมลงรบกวนน้อย เติบโตได้ดีโดยแทบไม่ต้องใส่ปุ๋ยบำรุงใดๆ

2.การรดน้ำแคคตัส

ไม่เหมือนพืชชนิดอื่น แคคตัสและพืชอวบน้ำทั้งหลาย เราไม่สามารถรดน้ำได้ทุกวัน เพราะเดิมพืชเหล่านี้เป็นพืชทะเลทราย ในทะเลทรายนานๆฝนจะตกลงมาสักที ทำให้พืชเหล่านี้ปรับตัว เพื่อความอยู่รอดโดยสะสมน้ำและอาหารไว้ที่รากและลำต้น เมื่อนำมาปลูกเลี้ยงในบ้าน เราก็ต้องจำลองการรดน้ำให้คล้ายกับแหล่งกำเนิด คือจะรดเมื่อดินแห้งสนิทดีเท่านั้น โดยเราสามารถเช็คได้ว่าดินแห้งสนิทดีหรือยังด้วยการจับยกกระถางดู ถ้าเบาๆก็แสดงว่าถึงเวลารดน้ำ หรือ จะใช้ไม้ปลายแหลมเช่น ไม้เสียบลูกชิ้นเซเว่น จิ้มลงไปในดิน หากดึงขึ้นมาแล้วดินยังเปียกติดไม้ ยังไม่ถึงเวลารดน้ำแคคตัส แต่หากดินแห้งสนิทก็ถึงเวลาที่จะต้องรด การคาดการณ์เป็นวันไม่สามารถทำได้ตลอด เพราะปัจจัยที่จะทำให้ดินแห้ง ช้า เร็ว ของแต่ละบ้านแตกต่างกัน นอกจากนี้ ฤดูกาลก็มีผลต่อความชื้นในดินเช่นกัน อย่างไรก็ตามหากเราไม่ต้องการทดสอบดิน แคคตัสส่วนมากสามารถรดน้ำได้ทุก 5-7 วันครั้ง รดแล้วอย่ารดซ้ำ รอจนกว่าจะถึงรอบ แต่ให้ดีกว่าควรรดเมื่อดินแห้งสนิทค่ะ อุปกรณ์รดน้ำแคคตัสที่แนะนำหากมีแคคตัสไม่มากสามารถใช้เป็นแบบหัวฝักบัวฝอยแบบสวมขวดน้ำอัดลม หรือ หากมีแคคตัสจำนวนมากจะใช้สายยางต่อกับฝักบัวรดน้ำแคคตัสก็ได้ น้ำที่ออกมาจะมีความนุ่มนวล ไม่สร้างความเสียหายให้กับหน่อและดอก อีกทั้งดินไม่กระเด็นออกมาด้วย

3.ดินปลูกแคคตัส

ควรปลูกเลี้ยงด้วยดินสำหรับปลูกแคคตัส เพราะเป็นดินที่ระบายน้ำได้เร็ว เหมาะสมกับพืชทะเลทราย ดินปลูกต้นไม้ทั่วไปยังระบายน้ำไม่ดีพอ อาจทำให้เกิดปัญหารากเน่าได้ง่าย ไม่ควรปลูกแคคตัสในทรายล้วนๆ เพราะไม่มีธาตุอาหารให้พืชเจริญเติบโต ดินปลูกแคคตัสสามารถซื้อผ่านทางช่องทางออนไลน์ ร้านดินปลูกแคคตัสออนไลน์) หรือ หากมีแคคตัสจำนวนมาก สามารถผสมดินปลูกแคคตัสเองก็ได้ สูตรดินไม่ตายตัวสามารถปรับเปลี่ยน เพิ่ม ลด ส่วนผสมได้ตามความเหมาะสม โดยวัสดุหลักๆที่ใช้ผสมเช่น ดินใบก้ามปู หินภูเขาไฟ พีทมอส เพอร์ไรท์ อื่นๆ ปัจจุบันสามารถสั่งซื้อทางร้านค้าออนไลน์ได้เช่นกัน (แนะนำร้านส่วนผสมดินปลูกแคคตัสออนไลน์)

4.การให้ปุ๋ยแคคตัส

ก็เหมือนพืชทั่วๆไป แคคตัสยังคงต้องการสารอาหารเพื่อสร้างการเจริญเติบโต ข้อดีคือแคคตัสเป็นพืชที่กินปุ๋ยไม่เก่ง ดังนั้นการให้ปุ๋ยไม่จำเป็นต้องให้ในปริมาณมากๆ ปุ๋ยที่แนะนำเช่น ปุ๋ยละลายช้า (ปุ๋ยออสโมโค้ท) สามารถใส่ทุกๆ 4-6 เดือน ในปริมาณเล็กน้อย ไม่ควรใส่ปุ๋ยในปริมาณมากๆ เพราะอาจทำให้แคคตัสบางสายพันธุ์ลำต้นปริแตกได้ ปุ๋ยอินทรีย์ก็สามารถใช้ได้ แต่นิยมใช้เป็นส่วนผสมในดินปลูกแคคตัส เช่น ปุ๋ยมูลไส้เดือน เป็นต้น

5.แมลงศัตรูพืชแคคตัส

แคคตัสที่ปลูกเลี้ยงในสถานที่แดดเพียงพอ ไม่อับชื้นจะมีโรคและแมลงรบกวนน้อย อย่างไรก็ตามแมลงศัตรูพืชที่มักพบได้บ่อยในแคคตัสมีดังนี้

พลี้ยหอย : เพลี้ยหอยหรือ Scale insect เพลี้ยหอยคือแมลงปากดูดชนิดหนึ่งจำพวกเพลี้ย ตัวเต็มวัยลักษณะมีเปลือกแข็งคล้ายเปลือกหอยหุ้มเป็นเกราะป้องกันตัวและไข่ โดยจะไม่หลบซ่อนตัว สามารถพบและมองเห็นได้ด้วยสายตา เพลี้ยหอยจะดูดกินน้ำเลี้ยงของต้นไม้ และทิ้งรอยซีด ด่าง เหลืองไว้ หากเป็นมากๆแคคตัสอาจจะอ่อนแอและตายในที่สุด พบได้บ่อยในแคคตัสสายพันธุ์ ยิมโน, เมโล, แอสโตร, ช้าง, ตอบลู, ตอสามเหลี่ยม, เสมา เป็นต้น หากพบว่าต้นไม้เป็นเพลี้ยหอย ควรแยกต้นที่พบออกมาจากต้นปกติแล้วค่อยกำจัดออก วิธีป้องกันเพลี้ยหอยสามารถทำได้โดย โรยผงสตาร์เกิล จี บริเวณโคนต้น โดยโรยทุก 3-4 เดือน หรือ หากพบว่าเป็นมากให้ฉีดพ่นด้วยยากำจัดเพลี้ย เช่น เอราท็อกซ์ โดยฉีดพ่นทุก 7 วัน นาน 4-5 รอบ เพลี้ยหอยที่ตายแล้วซากจะยังคงติดคาต้น สามารถใช้ก้านสำลีหรือไม้ปลายแหลมแคะออกได้

เพลี้ยแป้ง : เพลี้ยแป้งหรือ Mealybug คือแมลงปากดูดชนิดหนึ่งจำพวกเพลี้ย มีลักษณะเป็นตัวสีขาว มักพบผงคล้ายเส้นใย คล้ายผงแป้งสีขาวร่วม เพลี้ยแป้งจะหลบซ่อนตัว มักพบที่บริเวณราก อาการแคคตัสที่ถูกเพลี้ยแป้งเข้าทำลาย ลำต้นจะแคระแกร็น ไม่เจริญเติบโต ไม่ออกดอก ต้นนิ่ม รากกุด เพราะระบบรากถูกเพลี้ยแป้งกัดกินน้ำเลี้ยง ทำให้ระบบรากฝ่อ แห้ง แคคตัสไม่สามารถดูดน้ำและอาหารได้เพียงพอ พบได้บ่อยในแคคตัสแทบทุกสายพันธุ์ โดยเฉพาะแคคตัสสกุลแมมิลลาเรีย วิธีที่เราจะพบตัวเพลี้ยแป้งได้ต้องถอดกระถางออกมาตรวจเช็ค หากพบสามารถนำแคคตัสตัดแต่ง ล้างรากแล้วแช่ด้วยน้ำยาล้างจาน หรือ น้ำผสมเอราท็อกซ์ นาน 10-15นาที แล้วผึ่งให้แห้ง 1 อาทิตย์ค่อยนำแคคตัสลงปลูกใหม่ การป้องกันเพลี้ยแป้ง สามารถทำได้โดย รยผงสตาร์เกิล จี บริเวณโคนต้น โดยโรยทุก 3-4 เดือน หรือในช่วงลงปลูก / เปลี่ยนดิน แต่หากพบว่าเป็นมากให้ฉีดพ่นด้วยยากำจัดเพลี้ย เช่น เอราท็อกซ์ โดยฉีดพ่นทุก 7 วัน นาน 4-5 รอบ

พลี้ยแป้งญี่ปุ่น : เพลี้ยแป้งญี่ปุ่น หรือ Cochineal คือแมลงปากดูดชนิดหนึ่งจำพวกเพลี้ย ลักษณะตัวสีขาวๆ ชมพูๆ (เมื่อบี้ให้แตก) และมีการดำรงชีวิตแบบหลบซ่อนบริเวณยอดแคคตัส ลักษณะของแคคตัสที่โดนเพลี้ยแป้งญี่ปุ่นเข้าทำลายคือ บริเวณปลายยอดจะมีอาการคล้ายรอยไหม้ เนื่องจากบริเวณนั้นถูกเพลี้ยเกาะและดูดกินน้ำเลี้ยง ทำให้แคคตัสยอดเสีย ยอดไม่เดิน พบมากในแคคตัสจำพวก แอสโตร, ยิมโน, และ เแมโล เป็นต้น หากพบว่าต้นไม้เป็นเพลี้ยแป้งญี่ปุ่น ควรแยกต้นที่พบออกมาจากต้นปกติแล้วค่อยกำจัดออก วิธีป้องกันเพลี้ยแป้งญี่ปุ่นสามารถทำได้โดย โรยผงสตาร์เกิล จี บริเวณโคนต้น โดยโรยทุก 3-4 เดือน หรือ หากพบว่าเป็นมากให้ฉีดพ่นด้วยยากำจัดเพลี้ย เช่น เอราท็อกซ์ โดยฉีดพ่นทุก 7 วัน นาน 4-5 รอบ โดยพยามฉีดให้โดนตัวแมลงให้มากที่สุด

6.โรคแคคตัส

แคคตัสที่ปลูกเลี้ยงในระบบปิด มีแสงแดดส่องถึงเต็มวัน 7-8 ชั่วโมงมักไม่พบปัญหาโรคและแมลง อย่างไรก็ตามผู้เขียนขอกล่าวถึงโรคยอดฮิตที่สามารถพบได้บ่อยๆในแคคตัสดังนี้

โรคราสนิมในแคคตัส : ลักษณะของแคคตัสที่เป็นโรคราสนิมหรือ Rust fungus สังเกตได้จากแคคตัสมีสีผิดปกติไปจากเดิม คือมีจุดสีน้ำตาลคล้ายสีสนิมเหล็ก (แต่ไม่ได้เกี่ยวกับสนิมเหล็กแต่อย่างใด) สาเหตุเกิดจากเชื้อราสนิม ที่อาจมาจากการรดน้ำจากต้นที่เกิดโรครานิม, จากดินปลูก, จากลม, จากน้ำฝน, หรือ สาเหตุอื่นๆ เป็นแล้วแม้ไม่ทำให้แคคตัสตายในทันที แต่ก็ทำให้แคคตัสนั้นหมดความสวยงาม ขายไม่ได้ สามารถขยายและลุกลามได้ วิธีป้องกันที่ดีที่สุดคือ การปลูกเลี้ยงแคคตัสในสถานที่โปร่ง ไม่อับชื้น หมั่นสำรวจต้นไม้อยู่เสมอหากพบต้นที่เป็นโรคให้จับแยกออกไปจากโรงเรือนแล้วทำการรักษา โรคราสนิมเป็นแล้วรักษายากและใช้เวลานาน หากเป็นมากๆอาจต้องตัดใจทิ้งไปทั้งต้นไม้และดินปลูก ป้องกันและรักษาโดยฉีดยาฆ่าเชื้อราสนิม เช่น คาเบนดาซิม, จอยท์ ,แคปเท่น เป็นต้น

โรคแคงเกอร์ : ลักษณะของแคคตัสที่เป็นโรคแคงเกอร์ หรือ Canker สังเกตได้จากแคคตัสมีสีผิดปกติไปจากเดิม คือมีจุดสีน้ำตาลนูนๆลักษณะเป็นวง ขรุขระ เมื่อแกะออกจะกินลึกเป็นเดือยแหลมเข้าไปในเนื้อ สาเหตุเกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ที่อาจมาจากการรดน้ำจากต้นที่เกิดโรคแคงเกอร์, จากดินปลูก, จากลม, จากน้ำฝน, หรือ สาเหตุอื่นๆ เป็นแล้วแม้ไม่ทำให้แคคตัสตายในทันที แต่ก็ทำให้แคคตัสนั้นหมดความสวยงาม ขายไม่ได้ สามารถขยายและลุกลามได้ วิธีป้องกันที่ดีที่สุดคือ การปลูกเลี้ยงแคคตัสในสถานที่โปร่ง ไม่อับชื้น หมั่นสำรวจต้นไม้อยู่เสมอหากพบต้นที่เป็นโรคให้จับแยกออกไปจากโรงเรือนแล้วทำการรักษา โรคราสนิมเป็นแล้วรักษายากและใช้เวลานาน หากเป็นมากๆอาจต้องตัดใจทิ้งไปทั้งต้นไม้และดินปลูก ป้องกันและรักษาโดยฉีดยาฆ่าเชื้อแคงเกอร์ เช่น ฟังกุราน เป็นต้น

สนใจสั่งแคคตัสแมมขนนกเหลือง แนะนำร้านแคคตัสออนไลน์ ร้าน Wichulada’s garden

Leave a comment

Design a site like this with WordPress.com
Get started